ทัวร์ญี่ปุ่นพาแวะนมัสการพระใหญ่ไดบุตสึ แห่งเมืองคามาคุระ

จะไปเที่ยวกับทัวร์ญี่ปุ่นทั้งที  ไม่แวะนมัสการนมัสการพระใหญ่ไดบุตสึ แห่งเมืองคามาคุระ  ก็คงจะดูแปลกๆ ดังนั้นทัวร์ญี่ปุ่นก็เลยขออาสาพาคุณไปสัมผัสและเรียนรู้ประวัติอันน่าทึ่งของวัดแห่งนี้กันเลย

พระไดบุตสึ แห่งเมืองคามาคุระ (Kamakura Daibutsu, Great Buddha) 大仏  ถึงทางเข้าวัดพระใหญ่แห่งเมืองคามาคุระ สามารถซื้อบัตรเข้าชมแล้วเดินผ่านกลุ่มต้นสนที่ขึ้นเขียวชอุ่มสักพักก็ถึงลานกว้าง จึงเห็นองค์พระใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางแจ้ง พระใหญ่แห่งเมืองคามาคุระ (Kamakura Daibutsu, Great Buddha) คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักกันในนาม Daibutsu ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า พระพุทธองค์ใหญ่แต่น้อยคนที่ทราบว่าชื่อจริงของ Daibutsu ที่ Kamakura องค์นี้คือ พระอมิตตาพุทธ นิโอยุราอิ (Amida Nyoyurai) ตั้งอยู่ภายใน วัดโคโตกุอิน (Kotoku-in Temple) องค์ที่เห็นในปัจจุบันสร้างจากสำริด เสร็จเมื่อปี พ.ศ.1795 ความสูงรวมฐานอยู่ที่ 13.35 เมตร เฉพาะตัวองค์พระนั้นสูง 11 เมตร น้ำหนักราว 122 ตัน ถ้ามองไกลๆ จะเห็นองค์พระที่ไม่สมส่วน ดูจากพระหัตถ์นั้นดูเล็กนิดเดียว หากอยากดูองค์พระนี้ให้สมส่วน ต้องเข้าไปยืนใกล้ๆ ห่างจากองค์พระ 4-5 เมตรแล้วแหงนหน้ามองขึ้นไป จะเห็นองค์พระดูสมส่วนรับกันทั้งองค์สวยงามขึ้น ส่วนองค์พระที่มองเห็นเป็นสีเขียวนั้น เกิดจากการที่สำริดทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับสภาพอากาศทั้งฝนและหิมะมายาวนานจนกลายเป็นสีเขียว หากสังเกตให้ดีจะเห็นรอยเชื่อมต่อโลหะ เชื่อมพระพุทธรูปองค์นี้ให้เป็นรูปร่างซ้อนกันขึ้นไปรวมทั้งหมด 8 ชิ้น  ด้วยภูมิประเทศที่เป็นที่ราบโอบล้อมด้วยขุนเขาทั้งด้านหลังและด้านข้างอีกทั้งมีด้านหน้าที่หันสู่ทะเล ซึ่งเป็นทำเลที่ถูกต้องตามหลักการของฮวงจุ้ยที่รับมาจากจีนทำให้โยริโมโตะ มินาโมโตะ (Yorimoto Minamoto) โชกุนคนแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เลือกเมือง คามาคุระเป็นที่ตั้งกองบัญชาการปกครองประเทศ อันเป็นการเริ่มต้นของสมัยคามาคุระ (ค.ศ.1180-1333)ในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาที่พุทธศาสนาได้เผยแผ่มาจากจีนและเกาหลี ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่ยังปรากฏอยู่ในเมือง คามาคุระ อันบ่งบอก ถึงร่องรอยความเจริญของศาสนาพุทธหลายนิกาย วัดวาอารามมากมายถูกสร้างขึ้นตามความศรัทธาของโชกุน หรือผู้มีฐานะในสมัยนั้นตามแต่จะอุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายที่ตนนับถือ แรงบันดาลใจหลังจากการไปร่วมงานบูรณะ Daibutsu ที่เมือง Nara ทำให้โชกุนโยริโมโตะ มินาโมโตะ ประสงค์ที่จะสร้าง Daibutsu ในลักษณะเดียวกันที่ Kamakura ตามแบบความเชื่อในลัทธิ Jodo ซึ่งตนให้การอุปถัมภ์อยู่ แต่โชกุนได้เสียชีวิตลงในขณะที่การดำเนินการสร้างเพิ่งจะอยู่ในขั้นเริ่มต้นจากนั้น Yoriie Minamoto บุตรชายได้ขึ้นดำรง ตำแหน่งโชกุนแต่กลับถูกครอบงำอำนาจจากตระกูล Hojo จากทางฝ่ายมารดาซึ่งให้การสนับสนุนนิกาย Zen ทำให้การสร้าง Daibutsu ในนิกาย Jodo ต้องมีอันล้มเลิกไป ต่อมา Inada Notsubone สตรีที่เคยรับใช้โชกุน โยริโมโตะ มินาโมโตะ ต้องการที่จะสานต่อการสร้าง Daibutsu โดยได้รับความช่วยเหลือ จากหลวงพ่อโจโคะ (Joko) ที่ได้ร่วมเดินทางไปทั่วญี่ปุ่น เพื่อรับบริจาคเงินจากพุทธศาสนิกชนสำหรับใช้ในการสร้าง องค์พระใหญ่ในที่สุดงานสร้าง Kamakura Daibutsu พร้อมวิหาร ตามแบบอย่างจาก Nara ก็เสร็จ สมบูรณ์ ในปี ค.ศ. 1243 ซึ่งเดิมที องค์พระใหญ่ นั้นแกะสลักจากไม้มีขนาดความสูงถึง 24 เมตร ประดิษฐานในวิหาร ซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว่า Nara Daibutsu (ที่สร้างจากสำริดมีความสูง 14.73 เมตร)น่าเสียดายที่อีก 4 ปี ต่อมาเกิดพายุไต้ฝุ่น พัดผ่านคามาคุระ สร้างความเสียหายให้กับ พระองค์ใหญ่ Daibutsu และวิหาร ซึ่งตกลงมาแตกหักเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ ทำให้ Inada Notsubone และหลวงพ่อโจโคะ ต้องออกเดินทางอีกครั้งเพื่อบอกบุญสำหรับการสร้าง Daibutsu องค์ใหม่ เมื่อรวบรวมปัจจัยครบหมดแล้วครั้งนี้จึงเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่คงทนถาวรอย่างสำริดเหมือน กับองค์ที่ Nara ถึงกระนั้นก็ตามการหล่อ Daibutsu องค์ใหม่นี้ก็ประสบความล้มเหลวหลายครั้ง จนกระทั่งได้ช่างฝีมือดี 2 คนชื่อ ทันจิ ฮิซาโตโมะ (Tanji Hisatomo) และ โกโรอิมง โอโนะ (Goroe-mon Ono) มาช่วยหล่อองค์พระได้สำเร็จในปี พ.ศ. 1795 ประดิษฐานในวิหารของวัดโคโตกุอิน (Kotoku-in Temple)อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ Daibutsu ที่ Kamakura นี้แตกต่างจากที่ Nara อย่างมีนัยสำคัญ คืออมิตตาพุทธองค์นี้เกิดจากจิตศรัทธาของประชาชนญี่ปุ่นทั่วประเทศที่มีส่วนร่วมในการสร้าง Daibutsu ถึง 2 ครั้งด้วยกันโดยปราศจากความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ ระยะเวลา 153 ปีของสมัย Kamakura ต้องมีอันสิ้นสุดลงเนื่องจากความอ่อนแอของโชกุน และการแทรกแซงจากตระกูล Joho (ซึ่งอุปถัมภ์นิกาย Zen และเคยขัดขวางการสร้าง Daibutsu ตั้งแต่แรก) จากนั้นในปี ค.ศ. 1335 ก็เกิดพายุไต้ฝุ่นพัดกระหน่ำ Kamakura อีกครั้ง กองกำลังซามูไรกว่า 500 คนของตระกูล Joho ที่กำลังรบอยู่ในสงครามได้หนีเข้าไปหลบพายุในวิหารของวัดโคโตกุอิน (Kotoku-in Temple) แต่ในที่สุดพระวิหารก็ไม่สามารถต้านความแรงของพายุได้และพังลงมาทับกองทัพซามูไร ของตระกูล Joho เสียชีวิตทั้งหมดและเหลือไว้เพียง Daibutsu องค์เดียวหลังพายุสงบ จากนั้นก็เกิดพายุไต้ฝุ่นบ้าง แผ่นดินไหวบ้าง ทำให้วิหารที่สร้างครอบองค์พระได้รับความเสียหายไปหมด แม้จะสร้างขึ้นมาใหม่อีกหลายครั้ง ก็ถูกภัยธรรมชาติเหล่านี้ทำลายไปหมด จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2041 เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ (Tsunami) พัดถล่มชายฝั่งเมืองคามาคุระกวาดเอาวิหารและบ้านเรือนราษฎรลงทะเลไป แต่องค์พระใหญ่นั้นกลับประดิษฐานอยู่กับที่ไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน ยังคงประทับอยู่กลางแจ้งตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ช่วยปกป้องเมืองคามาคุระให้รอดพ้นจากภัยธรรมชาติตราบจนถึงทุกวันนี้ (กองทัพมองโกล ที่เข้ามารุกรานคามาคุระถึง 2 ครั้ง ต้องถอยทัพกลับไป เพราะเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ของพระองค์ใหญ่ทั้ง 2 ครั้ง 2 ครา นี้ด้วยเช่นกัน) จึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาจากคนญี่ปุ่นมาก ด้วยสัจธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า ความดีเท่านั้นที่คงทนเห็นได้ชัดว่าแม้แต่ภัยธรรมชาติร้ายแรง อย่างเช่น พายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว และแม้กระทั่งTsunami ที่โหมกระหน่ำเข้ามาหลายต่อหลายครั้งก็ไม่สามารถทำความเสียหายต่อ Kamakura Daibutsu องค์นี้แต่อย่างใด มาร่วมกันทำความดีเถอะครับ เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดอีก โดยเฉพาะสถานการณ์ ในโลกปัจจุบัน ภายในบริเวณวัดนอกจากองค์พระใหญ่ที่สามารถเข้าไปชมในตัวองค์พระได้แล้ว ด้านซ้ายมือมีต้นสนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เยือนวัดโคโตกุอิน เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2474 ออกมาด้านหน้าวัดมีร้านขายของที่ระลึก มีรูปจำลองพระองค์โตให้เลือกบูชาหลายขนาด นอกนั้นก็มีพวกไม้ประคบรองเท้าแบบญี่ปุ่นและมีดดาบซามูไร การเดินทางไปวัดโคโตกุอิน (Kotoku-in Temple)

จากสถานีรถไฟ Kamakura มีวิธีการเดินทางไปวัดพระใหญ่ได้ 2 วิธีคือ

1. นั่งรถไฟสาย Enoden Line ไปลงที่สถานีฮาเสะ (Hase Station) แล้วเดินขึ้นไปทางเหนือประมาณ 10 นาที หรือจะแวะที่วัด Hasedera ก่อนไปวัดพระใหญ่ก็ได้ ค่าโดยสาร 190 เยน

2. นั่งรถเมล์ Keikyu Bus จากป้ายหมายเลข 6 หรือ Enoden Bus จากป้ายหมายเลข 2 ปลายทางที่ป้ายไดบุตสึมาเอะ (Daibutsumae Bus Stop) ค่าโดยสาร 170 เยน จากนั้นค่อยเดินลงมาชมวัด Hasedera ก่อนจะไปขึ้นรถไฟ Enoden Line ที่สถานี Hase ที่อยู่ใกล้ๆ

ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 200 เยน เด็ก 150 เยน

ค่าเข้าชมภายในองค์พระ คนละ 20 เยน

เวลาเปิดให้เข้าชม ทุกวัน

เดือนเมษายน-กันยายน 07.00-18.00 น. เดือนตุลาคม-มีนาคม 07.00-17.30 น