ท่านเคยสงสัยกันบ้านหรือไม่ว่าทำไมประเทศไทยจึงรู้จัก “เกาะมัลดีฟส์” ? มันมีที่มา มีจุดเริ่มต้นยังไง เพราะเท่าที่ทัวร์มัลดีฟส์พอจะประติดประต่อได้ ก็เมื่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวช่วงหนึ่งเกิดกระแสแห่เที่ยวมายังเกาะแห่งนี้ แต่ใครหลายๆคนอาจคิดไม่ถึงว่าประเทศไทยนั้นรู้จักกับเกาะมัลดีฟส์หรือสาธารณรัฐมัลดีฟส์มาเป็นระยะเวลานานแล้ว ไม่เชื่อมาดูหลักฐานกันเลย
ความสัมพันธ์ทางการทูต
ประเทศไทยกับสาธารณรัฐมัลดีฟส์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับเอกอัครราชทูต เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2522 และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาโดยตลอด ทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชน ปัจจุบันเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำ มัลดีฟส์ และข้าหลวงใหญ่มัลดีฟส์ประจำศรีลังกา ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย
การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย
21 – 23 พ.ย. 2528 ร.ต. ประพาส ลิมปะพันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนมัลดีฟส์อย่างเป็นทางการ
21 – 24 มี.ค. 2531 นายเทอดพงษ์ ไชยนันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเยือนมัลดีฟส์ เพื่อร่วมการประชุมเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือทางวิชาการและงานพัฒนาด้านสาธารณสุข
6 – 8 เม.ย. 2543 นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เยือนมัลดีฟส์อย่างเป็นทางการ
ฝ่ายมัลดีฟส์
5 – 6 และ 9 – 10 ธ.ค. 2528 ประธานาธิบดีกายูมแวะเยือนไทยตามคำเชิญฝ่ายไทย
5 – 9 มี.ค. 2533 ประธานาธิบดีกายูมเยือนไทยเพื่อร่วมการประชุมระดับโลกเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน (World Council on Education for All)
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย – มัลดีฟส์
การค้า การค้าระหว่างไทยกับมัลดีฟส์มีไม่มากนัก โดยไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม สินค้าจากประเทศไทยเข้าสู่มัลดีฟส์มีปริมาณมากกว่าที่ปรากฏตามสถิติ เนื่องจากสินค้าไทยผ่านการ re-export ทางสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์พลาสติก ข้าว และผลิตภัณฑ์เซรามิก สินค้านำเข้าที่สำคัญจากมัลดีฟส์มีเพียงสิ่งเดียว ได้แก่ ปลาทูน่าสด แช่แข็งและแช่เย็น
การประมง ประเทศมัลดีฟส์เป็นแหล่งปลาทูน่าที่สำคัญในมหาสมุทรอินเดีย ประเทศไทยยังไม่มีการติดต่อเพื่อทำประมงร่วมกับมัลดีฟส์ ทั้งระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน ฝ่ายไทยเคยส่งเรือวิจัยประมงของกรมประมงเดินทางไปทำการศึกษาและวิจัยด้านปลาทูน่าในมัลดีฟส์ในบางโอกาส นอกจากนี้ รัฐบาลมัลดีสฟ์ได้กำหนดเงื่อนไขที่จะเข้าไปจับปลาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมัลดีฟส์ เช่น ต้องเสียค่าใบอนุญาต (license fee) ต้องจับปลาห่างฝั่งอย่างน้อย 75 ไมล์ และให้ผู้ได้รับอนุญาตจับปลาได้ไม่เกินปีละ 1.5 หมื่นตัน รวมทั้งทางการมัลดีฟส์ยังกำหนดให้ใช้วิธีการจับปลาแบบดั้งเดิมอีกด้วย
ความตกลงทวิภาคีไทย – มัลดีฟส์ ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศไทย – มัลดีฟส์ ลงนามเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม2532 ที่กรุงเทพฯ กำหนดให้สายการบินของแต่ละฝ่ายดำเนินบริการเดินอากาศในแต่ละทิศทาง โดยไม่จำกัดแบบของอากาศยาน ปัจจุบันมีสายการบินบางกอกแอร์เวย์สของประเทศไทยเปิดบริการเดินอากาศระหว่าง กรุงเทพฯ – มัลดีฟส์ ด้วยเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ไป-กลับ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
ความร่วมมือทางวิชาการ ในการประชุมความร่วมมือทางวิชาการไทย – มัลดีฟส์ (Thai – Maldives Joint Commission on Economic and Technical Cooperation) ณ กรุงมาลี เมื่อปี 2535 และ 2536 รัฐบาลไทย (โดยกรมวิเทศสหการ) เริ่มให้ความช่วยเหลือแก่มัลดีฟส์อย่างจริงจัง ทั้งทางด้านสาธารณสุข ประมง เกษตร การท่องเที่ยว การบิน การให้ทุนศึกษาในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยแก่นักเรียน/นักศึกษามัลดีฟส์ รวมทั้งจัดส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชและการแพทย์ไปฝึกอบรมเจ้าหน้าที่มัลดีฟส์ตามโครงการ Thai Aid Programme โครงการ Third Country Training Programme และข้อตกลงในกรอบของความร่วมมือทางวิชาการ ฝ่ายไทย โดยกรมวิเทศสหการได้ให้ความช่วยเหลือ/ความร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยจัดทำกรอบของแผนการให้ความช่วยเหลือ/ร่วมมือทางวิชาการ 3 ปี ระหว่างปี 2539-2541 และได้ขยายแผนดังกล่าวออกไปอีก 3 ปี ระหว่างปี 2542-2544